ถ้าแพลตฟอร์ม E-marketplace ไม่ได้มีไว้เพื่อขายของเพียงอย่างเดียว แต่เน้นทำเพื่อสังคมได้ด้วย จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อพูดถึง E-marketplace แน่นอนว่าทุกคนต้องนึกถึงแพลตฟอร์มรวมร้านค้าออนไลน์ที่เราเลือกช้อปได้ตามใจชอบ ซึ่งมีให้เลือกใช้หลากหลายเจ้าและได้กลายเป็นวิถีการบริโภคของคนยุคดิจิทัลไปแล้ว
ถึงอย่างนั้น แพลตฟอร์ม E-marketplace อาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำกิจการเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำกิจการเพื่อสังคมได้อีกด้วย เช่นเดียวกับ Greenery Basket ที่ประกาศเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา โดย Greenery Basket คืออีกหนึ่งผลผลิตจากฝีมือคุณเอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery, CreativeMove, และ Creative Citizen
Greenery Basket เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Greenery กับ Blue Basket ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวมผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและสินค้าแปรรูปเพื่อสุขภาพ ครอบคลุมทั้งอาหาร ของกินเล่น และของอุปโภคบริโภคต่างๆ
Greenery Basket กับ Blue Basket อาจดูเป็นแพลตฟอร์มที่ขายของแบบเดียวกัน แต่หากลองถอดความเป็นแบรนด์ของ Greenery Basket ออกมา จุดขายที่ต่างจาก Blue Basket คือเน้นขายของที่ดีต่อสุขภาพคนกินและสุขภาพสิ่งแวดล้อมเป็นหลั。 ในขณะที่ไลน์สินค้าของ Blue Basket ค่อนข้างหลากหลาย กว้างกว่า และไม่ได้วางตัวว่าเป็นสินค้าสายกรีนเสียทีเดียว
ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่บน Greenery Basket จึงเป็นของออร์แกนิก ทั้งในแง่คุณประโยชน์ที่มีต่อผู้บริโภคและกรรมวิธีการผลิต เช่น ผักผลไม้ที่ปลูกตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ต้นไม้จิ๋ว เมล็ดกาแฟจากกลุ่มปกาเกอะญอ เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจของ Greenery Basket คือกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำได้จริง ในขณะที่ Greenery เองมีพันธกิจเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการกิน อยู่ และใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านทางหน้าเพจ ไปจนถึงการสร้างคอมมูนิตี้ออนไลน์ให้คนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนและร่วมทำกิจกรรมในรูปของ challenge เพื่อสานต่อความคิดลดการก่อขยะให้โลก
ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการส่งต่อแนวคิดนี้จะยิ่งอิมแพ็กมากขึ้นหากปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าของผู้คน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะได้มากอีกทางหนึ่ง
ที่สำคัญ การสร้างทางเลือกให้คนก็จำเป็นไม่น้อย คนรู้ว่าจะเลือกกินหรือใช้ของอย่างไรให้ช่วยโลกได้ แต่ไม่รู้ว่าจะหาของอย่างนั้นได้จากที่ไหน Greenery Basket จึงเข้ามาเติมช่องว่างนี้ โดยวางตัวเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคอย่างเราให้เข้าถึงกลุ่มผู้ผลิตหรือ “ต้นน้ำ” ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เรามีโอกาสอุดหนุนสินค้าจากเกษตรกร เหล่าชาวประมงพื้นบ้าน หรือผู้ผลิตต้นทางได้ในราคาสมเหตุสมผล
นอกจากนี้ แบรนด์ยังใส่ใจองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลือกใช้คำว่า “ตะกร้าสุขภาพ” เพื่อสื่อถึงการช้อปสินค้าออนไลน์ใส่ตะกร้า สอดคล้องกับภาพการถือตะกร้าไปจับจ่ายสินค้าในตลาดแทนการใช้ถุงพลาสติก ถือเป็นการสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการลดใช้พลาสติกสร้างสรรค์ทางหนึ่งด้วย
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งบทใหม่ของการทำแพลตฟอร์ม E-marketplace ที่ไม่ได้มุ่งขายของอย่างเดียว แต่เน้นสร้างคุณค่าและส่งต่อแนวคิดอันเป็นจุดยืนของแบรนด์ โดยปรับลักษณะของตัวแพลตฟอร์มให้เข้ากับเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม หากใครสนใจหรือกำลังมองหาสินค้าออร์แกนิก แนวรักษ์โลกลองเข้ามาเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ กันได้ที่นี่ www.greenerybasket.com
Content by Piyawan Chaloemchatwanit
#Brief #business #TheMATTER